ประเภทของวงดนตรีไทย
ประเภทวงดนตรีไทย
การแบ่งประเภทของวงดนตรีไทยจำแนกตามลักษณะการประสมวงได้ 3 ประเภท คือ วงเครื่องสาย วงปี่พาทย์และวงมโหรี วงดนตรีไทยแต่ละวงจะใช้บรรเลงในโอกาสที่แตกต่างกัน
วงเครื่องสาย
ประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย อันได้แก่เครื่องสี (ซอด้วงและซออู้) และเครื่องดีด (จะเข้) เป็นหลัก มีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า (ขลุ่ย) เป็นส่วนประกอบ ใช้โทนรำมะนาบรรเลงจังหวะหน้าทับ และใช้ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ร่วมบรรเลงประกอบจังหวะ วงเครื่องสายเป็นวงดนตรีประเภทที่ใช้บรรเลงขับกล่อมเพื่อความบันเทิงเริงรมย์ เหมาะสำหรับการบรรเลงในอาคาร นิยมใช้บรรเลงในงานมงคล เช่น พิธีมงคลสมรสและงานเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น และมิได้ใช้บรรเลงสำหรับประกอบการแสดงนาฏศิลป์
๑. วงเครื่องสายไทย วงเครื่องสายไทย เป็นวงดนตรีที่เหมาะสำหรับการบรรเลงในอาคาร ในลักษณะของการขับกล่อมที่เป็นพิธีมงคล เช่น พิธีมงคลสมรสและงานเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น วงเครื่องสายไทยนี้มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า “วงเครื่องสาย” มีอยู่ ๒ ขนาด คือ วงเครื่องสายวงเล็กและวงเครื่องสายเครื่องคู่ ๑.๑ วงเครื่องสายวงเล็ก ประกอบด้วย เครื่องดนตรีในตระกูลเครื่องสายและเป่าอย่างละหนึ่งเครื่อง ดังนี้ จะเข้ ๑ ตัว ซอด้วง ๑ คัน ซออู้ ๑ คัน ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา โทน-รำมะนา ๑ คู่ ฉิ่ง ๑ คู่ ฉาบ ๑ คู่ กรับ ๑ คู่ โหม่ง ๑ ใบ
๑.๒ วงเครื่องสายเครื่องคู่ วงเครื่องสายเครื่องคู่ประกอบด้วย เครื่องดนตรีที่อยู่ในวงเครื่องสายวงเล็กเป็นหลัก โดยเพิ่มจำนวนของเครื่องดนตรีประเภททำทำนองจากเครื่องมือละหนึ่งเครื่องเป็นสองเครื่องหรือเป็นคู่ ดังต่อไปนี้ จะเข้ ๒ ตัว ซอด้วง ๒ คัน ซออู้ ๒ คัน ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา ขลุ่ยหลิบ ๑ เลา ฉิ่ง ๑ คู่ ฉาบ ๑ คู่ กรับ ๑ คู่ โหม่ง ๑ ใบ โทน-รำมะนา ๑ คู่
๒. วงเครื่องสายผสม เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีอย่างที่สังกัดในวงเครื่องสายไทย เพียงแต่เพิ่มเอาเครื่องดนตรีที่อยู่นอกเหนือจากวงเครื่องสายไทย หรืออาจจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมือง หรือเครื่องดนตรีของต่างชาติก็ได้ มาบรรเลงร่วมด้วย เช่น ไวโอลิน ออร์แกน ขิม หีบเพลงชัก เปียโน ระนาด แคน (หรือแม้แต่ซอสามสายอันเป็นเครื่องสีก็ตาม) เป็นต้น ซึ่งเครื่องดนตรีที่นำมาผสมนั้นต้องคำนึงถึงคุณลักษณะของเสียงด้วยว่ามีความกลมกลืนมากน้อยเพียงใด การเรียกชื่อวงจะเรียกตามตามเครื่องดนตรีที่นำมาผสม เช่น ถ้านำขิมมาบรรเลงร่วมก็จะเรียกว่า วงเครื่องสายผสมขิม ถ้าหากนำออร์แกนมาบรรเลงร่วม ก็เรียกว่า วงเครื่องสายผสมออร์แกน ฯลฯ สำหรับโอกาสในการบรรเลงนั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับวงเครื่องสายไทยทุกประการ
ในบางครั้งวงเครื่องสายประเภทนี้จะนำเอาจะเข้ซึ่งมีเสียงดังออกเสียด้วย เนื่องจากเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงร่วมนั้นมีเสียงเบากว่ามาก เช่น ในวงเครื่องสายผสมขิมหรือไวโอลินบางวง เป็นต้น
๓. วงเครื่องสายปี่ชวา ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายไทยเป็นหลัก และนำเอาปี่ชวามาบรรเลงแทนขลุ่ยเพียงออ คงไว้แต่เพียงขลุ่ยหลิบซึ่งมีเสียงสูง และเปลี่ยนมาใช้กลองแขกบรรเลงจังหวะหน้าทับแทน วงเครื่องสายปี่ชวามี ๒ ขนาด คือ วงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็กและวงเครื่องสายปี่ชวาวงใหญ่ ๓.๑ วงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็ก ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้ ปี่ชวา ๑ เลา ขลุ่ยหลิบ ๑ เลา ซอด้วง ๑ คัน ซออู้ ๑ คัน จะเข้ ๑ ตัว กลองแขก ๑ คู่ ฉิ่ง ๑ คู่ ฉาบ กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสม
๓.๒ วงเครื่องสายปี่ชวาวงใหญ่ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็กเป็นหลัก โดยเพิ่มเครื่องดนตรีในตระกูลเครื่องสายให้เป็น 2 หรือคู่ ดังนี้ ปี่ชวา ๑ เลา ขลุ่ยหลิบ ๑ เลา ซอด้วง ๒ คัน ซออู้ ๒ คัน จะเข้ ๒ตัว กลองแขก ๑ คู่ ฉิ่ง ๑ คู่ ฉาบ กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสม
วงปี่พาทย์
ลักษณะทั่วไปของวงปี่พาทย์ มาครั้งนี้เราจะมาขยายความ เจาะลึกลงไปในเนื้อหาของปี่พาทย์ ซึ่งจะขอกล่าวถึง วงปี่พาทย์ชาตรี และ วงปี่พาทย์ไม้แข็ง
๑. วงปี่พาทย์ชาตรีวงดนตรีชนิดนี้เริ่มปรากฏหลักฐานตั้งแต่ครั้งสุโขทัยมาแล้ว ถือเป็นวงปี่พาทย์ยุคเริ่มแรกเลยก็ว่าได้ และเนื่องจากวงดนตรีชนิดนี้นิยมใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครชาตรี จึงเรียกกันว่าวงปี่พาทย์ชาตรี หรืออาจเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าปี่พาทย์เครื่องห้าชนิดเบา เนื่องมาจากการพิจารณาตามขนาดและน้ำหนักของเครื่องดนตรีที่มีขนาดเล็กและเบาก็เป็นได้ วงปี่พาทย์ชาตรีประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีดังต่อไปนี้ปี่นอก ๑ เลาโทน (ทับ) ๑ คู่กลองชาตรี ๑ ใบฆ้องคู่ ๑ ชุดฉิ่ง ๑ คู่
จะเห็นว่าการประสมวงปี่พาทย์ดังกล่าวนี้ ดำเนินตามเยี่ยงของปัญจดุริยางค์ของอินเดียโดยตรง โดยปัญจดุริยางค์นั้น จะประกอบด้วยเครื่องดนตรี ๕ ประเภท โดยมีเครื่องดนตรีที่สำคัญคือ สุสิร๐ (สิ่งที่มีรูกลวงภายใน ได้แก่ ปี่) อาตต๐ (สิ่งที่ขึ้นหนังหน้าเดียว ได้แก่ทับหรือโทน) ฯลฯปัจจุบัน วงดนตรีไทยชนิดนี้ยังคงใช้ในการประกอบกับการเล่นละครพื้นเมือง เช่น โนราห์ ของทางหัวเมืองปักษ์ใต้ เป็นต้น
๒. วงปี่พาทย์ไม้แข็ง
จัดเป็นวงดนตรีที่ได้รับความนิยมแพร่หลายสูงสุดในกลุ่มวงปี่พาทย์ และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าเป็นวงดนตรีที่มีความเป็นมาตรฐานที่สูงสุดอีกด้วย เครื่องดนตรีที่สังกัดในวงดนตรีประเภทนี้ทุกเครื่องจะมีเสียงดัง เนื่องจากบรรเลงด้วยไม้ตีชนิดแข็ง จึงเรียกชื่อวงดนตรีชนิดนี้ว่า ปี่พาทย์ไม้แข็ง ตามลักษณะของไม้ที่ใช้บรรเลง อรรถรสที่ได้จากการฟังดนตรีชนิดนี้จึงมีทั้งความหนักแน่น สง่าผ่าเผย คล่องแคล่ว และสนุกครึกครื้น วงปี่พาทย์ไม้แข็งสามารถแบ่งตามขนาดของวงหรือตามจำนวนของเครื่องดนตรีได้เป็น ๓ ขนาด คือ วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องห้า วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ และวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่
๒.๑ วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องห้า
ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีรายการละหนึ่งเครื่อง โดยแต่เดิมนั้นประกอบด้วยปี่ใน ระนาดเอก (ทำหน้าที่ดำเนินลำนำ) ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน และกลองทัด จนมาเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงได้เพิ่มฉิ่งขึ้นอีกสิ่งหนึ่ง ดังนั้น ในปัจจุบัน วงปี่พาทย์เครื่องห้า จึงประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีและกำกับจังหวะรวมกันเป็นจำนวน ๖ เครื่อง กล่าวกันว่า สาเหตุที่เรียกเครื่องห้าอาจเป็นเพราะตะโพนและกลองทัดจัดเป็นเครื่องดนตรีตระกูลเครื่องหนังหรือกลองทั้งคู่ จึงนับจำนวนหน่วยเป็นหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ผู้รู้บางท่านก็ได้กล่าวไว้ในอีกแง่หนึ่งว่าการที่เรียกว่าปี่พาทย์เครื่องห้า แต่มีเครื่องดนตรี ๖ ชิ้นนั้น อาจเป็นเพราะผู้บรรเลงกลอง อาจจะเลือกตี ตะโพนหรือ กลองสองหน้าอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเหมาะสมของเพลง เครื่องดนตรีต่างๆ มีดังนี้ปี่ใน ๑ เลาระนาดเอก ๑ รางฆ้องวงใหญ่ ๑ วงตะโพน ๑ ใบกลองทัด ๑ คู่ (แต่เดิมมี ๑ ใบ เพิ่งมาเพิ่มเป็นคู่เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๑)ฉิ่ง ๑ คู่
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานอธิบายถึงเครื่องบรรเลงไว้ว่า “…ปี่พาทย์เครื่องห้าที่ไทยเราใช้กันมาแต่โบราณมาแต่เบญจดุริยางค์ แต่มีต่างกันเป็น ๒ ชนิด เป็นเครื่องอย่างเบา (ปี่พาทย์ชาตรี - ผู้เรียบเรียง) ใช้เล่นละคอนกันในพื้นเมือง (เช่นพวกละคอนชาตรี) ชนิด ๑ เครื่องอย่างหนักสำหรับเล่นโขนชนิด ๑ ปี่พาทย์ ๒ ชนิดมี่กล่าวมานี้คนทำวงละ ๕ คนเหมือนกัน แต่ใช้เครื่องต่างกันปี่พาทย์เครื่องเบา วงหนึ่งมี: ปี่ เป็นเครื่องทำลำนำ ๑ ทับ ๒ กลอง ๑ ฆ้องคู่เป็นเครื่องทำจังหวะ ๑ ลักษณะตรงตำราเดิม ผิดกันแต่ใช้ทับแทนโทนใบ ๑ เท่านั้นส่วน ปี่พาทย์เครื่องหนัก นั้น วงหนึ่งมี: ปี่ ๑ ระนาด ๑ ฆ้องวง ๑ กลอง ๑ โทน (ตะโพน) ๑ ใช้โทนเป็นเครื่องทำเพลง และจังหวะไปด้วยกัน ถ้าทำลำนำที่ไม่ใช่โทน ก็ให้คนโทนตีฉิ่งให้จังหวะเหตุที่ผิดกันเช่นนี้ เห็นจะเป็นเพราะการเล่นละคอน มีขับร้อง และเจรจาสลับกับปี่พาทย์ ปี่พาทย์ไม่ต้องทำพักละช้านานเท่าใดนัก แต่การเล่นโขนต้องทำปี่พาทย์พักละนานๆ จึงต้องแก้ไขให้มีเครื่องทำลำนำมากขึ้น แต่การเล่นละคอนตั้งแต่เกิดมีละคอนในขึ้น เปลี่ยนมาใช้ปี่พาทย์เครื่องหนักอย่างโขน ปี่พาทย์ที่เล่นกันในราชธานี จึงใช้แต่ปี่พาทย์เครื่องหนักเป็นพื้นปี่พาทย์เครื่องหนักในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมี: ปี่ ๑ เลา ระนาด ๑ ราง ฆ้อง ๑ วง ฉิ่งกับโทน ๑ กลองใบ ๑ รวมเป็น ๕ ด้วยกัน แต่ปี่นั้นใช้ขนาดย่อม อย่างที่เรียกว่าปี่นอก กลองก็ใช้ขนาดย่อมอย่างเช่นเล่นหนังใหญ่ แก้ไขชั้นแรก คือ ทำปี่ และกลองให้เขื่องขึ้นสำหรับใช้กับเครื่องปี่พาทย์ที่เล่นในร่มเพื่อเล่นโขนหรือละคอนใน ปี่ที่มีขึ้นใหม่นี้เรียกว่า ปี่ใน ส่วนปี่ และกลองอย่างของเดิม คงใช้ในเครื่องปี่พาทย์เวลาทำกลางแจ้ง เช่นเล่นหนัง (ใหญ่) จึงเกิดปี่นอก ปี่ใน ขึ้นเป็น ๒ อย่าง การแก้ไขที่กล่าวมานี้ จะแก้ไขแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาหรือมาแก้ไขในกรุงรัตนโกสินทร์ข้อนี้ไม่ทราบแน่…”
๒.๒ วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่
วงปี่พาทย์ชนิดนี้เกิดขึ้นในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยมีการประดิษฐ์ระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กขึ้นเพื่อให้คู่กับระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่ สาเหตุที่วงปี่พาทย์ไม้แข็งชนิดนี้ถูกเรียกว่าเครื่องคู่นั้น คงเนื่องมาจากรูปแบบของการประสมวงที่กำหนดจำนวนเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงทำนองให้เป็นอย่างละสองเครื่องหรือเป็นคู่ กล่าวคือ ปี่ ๑ คู่ ระนาด ๑ คู่ และฆ้องวง ๑ คู่ เครื่องดนตรีและเครื่องกำกับจังหวะที่ประสมอยู่ในวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ ประกอบด้วย
ปี่ใน ๑ เลาปี่นอก ๑ เลาระนาดเอก ๑ รางระนาดทุ้ม ๑ รางฆ้องวงใหญ่ ๑ วงฆ้องวงเล็ก ๑ วงตะโพน ๑ ใบกลองทัด ๑ คู่ฉิ่ง ๑ คู่ฉาบ กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสมและบางครั้งอาจมีกลองแขกเพิ่มขึ้นด้วย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่า “…ได้กล่าวมาข้างต้นว่าปี่พาทย์ เดิมเป็นเครื่องอุปกรณ์การฟ้อนรำ เช่นเล่นหนัง (ใหญ่) และโขน ละคอน เป็นต้น หรือเป็นเครื่องประโคมให้ครึกครื้น ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริให้เสภาขับส่งปี่พาทย์ ปี่พาทย์ก็กลายเป็นเครื่องเล่นสำหรับให้ไพเราะโดยลำพัง เพราะฉะนั้น เมื่อเล่นเสภาส่งปี่พาทย์กันแพร่หลาย ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ จึงมีผู้คิดเครื่องปี่พาทย์เพิ่มเติมขึ้นให้เป็นคู่หมดทุกอย่าง เรื่องที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่นั้น มีสงสัยว่าจะเพิ่มมาแต่ก่อนรัชกาลที่ ๓ อยู่ ๓ สิ่ง คือ กลองแขก คู่ ๑ เห็นจะเพิ่งตั้งแต่เล่นละคอนเรื่องอิเหนาแต่ครั้งกรุงเก่ามา สำหรับแต่เวลารำอย่างแขก เช่น รำกริช เป็นต้น (แล้วจึงเลยเอาไปทำกระบี่กระบอง) กลองปี่พาทย์เดิมก็ใบเดียว (อย่างเช่นใช้ในปี่พาทย์เครื่องห้า) เติมกลองขึ้นเป็น ๑ ใบอีกสิ่งหนึ่ง สองหน้าสำหรับคนกลองตีขัดกับตะโพน (ในเวลาเพลงไม่ใช้กลอง) นี้สิ่ง ๑ เครื่อง ๑ สิ่งที่กล่าวมานี้ เห็นจะเติมเข้าในเครื่องปี่พาทย์มาก่อน…”วงปี่พาทย์ชนิดนี้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เครื่องกลาง” และโปรดประทานอธิบายว่า “ลางทีก็ไม่มีปี่นอก เพราะหาคนปี่ได้ยาก”
๒.๓ วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่
วงดนตรีประเภทนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยเครื่องดนตรีประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่เป็นหลัก แต่มีการเพิ่มระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็กขึ้นอีกอย่างละราง นับเป็นวงปี่พาทย์ไม้แข็งที่มีวิวัฒนาการสูงสุดในปัจจุบันระนาดเอกเหล็ก ทำด้วยโลหะ เดิมเรียกว่าระนาดทอง เพราะว่า เมื่อประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกใช้ทองเหลืองทำลูกระนาด ปัจจุบันนิยมใช้เหล็ก หรือสเตนเลส ทำลูกระนาด ใช้วางเรียงบนรางไม้ มีผ้าพันหรือใช้ไม้ระกำวางพาดไปตามขอบราง สำหรับรองหัวท้ายลูกระนาด แทนการร้อยเชือก เนื่องจากลูกระนาดมีน้ำหนักมาก วิธีการบรรเลงเช่นเดียวกับระนาดเอกไม้ ส่วนระนาดทุ้มเหล็กนั้นลูกระนาดทำอย่างเดียวกับระนาดเอกเหล็ก แต่ทำให้ลูกใหญ่กว่า เป็นเสียงทุ้ม เลียน เสียงระนาดทุ้ม มีจำนวน ๑๖ - ๑๗ ลูก วิธีบรรเลงเช่นเดียวกับระนาดทุ้มไม้ ระนาดเหล็กทั้งสองรางนี้ นักดนตรีมักเรียกกันว่า “หัว-ท้าย” ทั้งนี้คงเนื่องจากระเบียบการจัดวงที่เครื่องดนตรีทั้งสองนี้ ถูกกำหนดตำแหน่งให้อยู่ด้านหัวและท้ายของวงนั่นเองสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงคิดประดิษฐ์ระนาดโลหะ (ระนาดเหล็ก - ผู้เรียบเรียง) นี้ขึ้น โดยยึดหลักจากหีบเพลงที่ฝรั่งนำมาขายในสมัยนั้น กล่องเพลงนี้ ภายในมีโลหะคล้ายรูปหวี มีขนาดสั้นเรียงไปหายาว เมื่อไขลานแล้วจะมีแท่งโลหะรูปทรงกระบอกหมุน บนผิวทรงกระบอกนั้นมีปุ่มโลหะซึ่งจัดไว้ให้หมุนไปสะกิดหวีโลหะนั้น ก็จะเกิดเป็นเสียงออกมาสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงประทานอธิบายไว้ว่า “..(ปี่พาทย์) เครื่องใหญ่ มีระนาด ๔ ราง คือ ระนาดเอก (ไม้ไผ่) ระนาดทุ้ม (ไม้ไผ่) ระนาดทอง (ทำด้วยทองเหลืองอย่างระนาดเอก) กับระนาดทุ้มเหล็ก (ทำด้วยเหล็กอย่างระนาดทุ้ม) มีฆ้องสองร้าน คือ ฆ้องใหญ่กับฆ้องเล็ก ปี่สอง เลา คือ ปี่ใหญ่กับปี่เล็ก เรียกว่า ปี่ใน ปี่นอก กลองมีสามอย่าง คือ ตะโพน เปิงมาง กลองทัด อันกลองทัดนั้นจะใช้ใบเดียว สองใบ หรือสามใบก็ได้ เสียงสูง และเสียงต่ำไล่กันเป็นลำดับไป โดยมากใช้สองใบ เปิงมางนั้นต่อเมื่อไม่ตีกลองทัดจึงใช้คนตีกลองทัดนั้นเอง ตีเปิงมางสอดเสียงตะโพน ส่วนเครื่องประกอบอย่างอื่น เช่น ฉิ่ง ฉาบใหญ่ ฉาบเล็ก โหม่ง จะมีครบหรือละเว้นอะไรบ้างก็ได้ไม่จำกัด…” แล้วทรงประทานอธิบายกำเนิดของเครื่องปี่พาทย์บางชนิดว่า “…ระนาดเอกเป็นของมีมาแต่ดั้งเดิม ระนาดทุ้มเป็นของทำเติมเข้าใหม่ แต่เติมก่อนเจ้านายทรงปี่พาทย์ในรัชกาลที่ ๔ ระนาดทองเห็นจะคิดทำเติมขึ้นในครั้งเจ้านายทรงปี่พาทย์ในรัชกาลที่ ๔ ทุ้มเหล็กได้ทราบแน่ทีเดียวว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระราชดำริทำเติมขึ้น ถ่ายทอดมาจากหีบเพลงฝรั่งอย่างเป็นเครื่องกลเขี่ยหวีเหล็ก ฆ้องใหญ่เป็นของมีมาแต่ดั้งเดิม ฆ้องเล็ก เข้าใจว่าเอาฆ้องมโหรีมาผสม ปี่ใหญ่หรือปี่ในเป็นของมีประจำวงปี่พาทย์มาแต่ดั้งเดิม ปี่เล็กหรือปี่นอกเป็นของมีประจำวงปี่พาทย์มาแต่เก่าแก่เหมือนกัน เว้นแต่ก่อนนี้ไม่ได้ใช้เอามาเป่าเข้าวงปี่พาทย์ ใช้เป่าแต่ทำหนังจำเพาะเพลงเชิดนอกเมื่อจับลิงหัวค่ำอย่างเดียว ภายหลังจึงเอามาเติมเข้าในวงปี่พาทย์คู่กับปี่ใหญ่…”วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้
ปี่ใน ๑ เลา ทำหน้าที่ผู้นำ บรรเลงเก็บบ้างโหยหวลบ้างตามทำนองเพลงปี่นอก ๑ เลา ทำหน้าที่บรรเลงเก็บบ้างโหยหวลบ้าง ล้อไปกับปี่ใน ตามทำนองเพลงระนาดเอก ๑ ราง ทำหน้าที่นำวง บรรเลงเก็บแทรกแซงตามทำนองเพลงระนาดทุ้ม ๑ราง ทำหน้าที่หลอกล้อ ยั่วเย้าไปกับพวกบรรเลงทำนองระนาดเอกเหล็ก ๑ ราง ทำหน้าที่เก็บและเทรกแซงไปตามทำนองเพลงระนาดทุ้มเหล็ก๑ ราง ทำหน้าที่บรรเลงล้อหลอกห่างๆตามทำนองเพลงฆ้องวงใหญ่ ๑ วง ทำหน้าที่บรรเลงเป็นหลักในการบรรเลงและเดินเนื้อเพลงฆ้องวงเล็ก ๑ วง ทำหน้าที่เก็บแทรกแซงตามทำนองเพลงบรรเลงละเอียดตะโพน ๑ ใบ คอยควบคุมจังหวะหน้าทับและเป็นผู้นำกลองทัดกลองทัด ๑ คู่ บรรเลงเดินตามจังหวะไม้กลองแต่ละเพลงฉิ่ง ๑ คู่ คอยควบคุมจังหวะย่อย แสดงจังหวะหนักเบาฉาบเล็ก ๑ คู่ บรรเลงหลอกล้อไปกับเครื่องประกอบจังหวะฉาบใหญ่ ๑ คู่ บรรเลงควบคุมจังหวะห่างๆโหม่ง ๑ คู่ บรรเลงควบคุมจังหวะห่างๆ
วงปี่พาทย์ไม้แข็งทั้ง ๓ ขนาด ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น วัตถุประสงค์หลักของการรวมวง มุ่งเน้นไปที่การบรรเลงประกอบพิธีกรรมและการแสดงโขน ละครเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายของการบรรเลงในลักษณะของการขับกล่อม ดังนั้นในกรณีที่ต้องการบรรเลงขับกล่อม วงดนตรีชนิดนี้จึงต้องปรับเปลี่ยนเอากลองทัดและตะโพนซึ่งมีเสียงดังออก และใช้กลองสองหน้าหรือกลองแขกบรรเลงจังหวะหน้าทับแทน การประสมวงในลักษณะนี้เรียกว่า “วงปี่พาทย์เสภา” ใช้ประกอบการบรรเลงร้อง-ส่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีต่างๆ ดังนี้
ปี่ใน ๑ เลาปี่นอก ๑ เลาระนาดเอก ๑ รางระนาดทุ้ม ๑ รางฆ้องวงใหญ่ ๑ วงฆ้องวงเล็ก ๑ วงกลองสองหน้า ๑ ใบฉิ่ง ๑ คู่ฉาบ(เล็ก) กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสม
หมายเหตุ : วงปี่พาทย์ทั้ง ๓ ประเภทข้างต้นถ้ามีการบรรเลงเพลงภาษาก็สามารถ ใช้เครื่องกำกับจังหวะของภาษานั้นๆ เช่น ตะโพน เปิงมาง กลองจีน หรือ กลองมะริกัน เป็นต้น
วงมโหรี
วงมโหรี เป็นวงดนตรีผสม ตั้งแต่มีไม่กี่สิ่ง จนกลายเป็นวงเครื่องสายผสมกับวงปี่พาทย์ดังจะกล่าวต่อไปนี้
วงมโหรีโบราณ
มีเครื่องดนตรีและผู้บรรเลงเพียง ๔ คน ๑. ซอสามสาย สีเก็บบ้าง โหยหวนเสียงยาวๆ บ้าง มีหน้าที่คลอเสียงคนร้องและดำเนินทำนองเพลง ๒. กระจับปี่ ดีดดำเนินทำนองถี่บ้างห่างบ้าง เป็นหลักในการดำเนินเนื้อเพลง ๓. โทน ตีให้สอดสลับไปแต่อย่างเดียว (เพราะยังไม่มีรำมะนา) มีหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับ ๔. กรับพวง ตีตามจังหวะห่างๆ มีหน้าที่กำกับจังหวะย่อย ซึ่งคนร้องเป็นผู้ตี วงมโหรีอย่างนี้ได้ค่อยๆ เพิ่มเครื่องดนตรีมากขึ้นเป็นขั้นๆ ขั้นแรกเพิ่มรำมะนาให้ตีคู่กับโทน แล้วเพิ่มฉิ่งแทนกรับพวง ต่อมาก็เพิ่มขลุ่ยเพียงออ และนำเอาจะเข้เข้ามาแทนกระจับปี่ต่อจากนั้น ก็นำเอาเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายและวง ปี่พาทย์เข้ามาผสม แต่เครื่องดนตรีที่นำมาจากวงปี่พาทย์นั้น ทุกๆ อย่างจะต้องย่อขนาดให้เล็กลง เพื่อให้เสียงเล็กและเบาลง ไม่กลบเสียงเครื่องดีดเครื่องสีที่มีอยู่แล้ว
มโหรีวงเล็ก
มีเครื่องดนตรีดังนี้ ๑. ซอสามสาย (วิธีสีและหน้าที่เหมือนในวงมโหรีโบราณ) ๒. ระนาดเอก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์) ๓. ฆ้องวง เนื่องจากย่อขนาดเล็กลงกว่าฆ้องวงใหญ่ และใหญ่กว่าฆ้องวงเล็กในวง ปี่พาทย์ จึงมักเรียกว่า "ฆ้องกลาง" หรือ "ฆ้องมโหรี" วิธีตีและหน้าที่เหมือนฆ้องวงใหญ่ในวงปี่พาทย์ ๔. ซอด้วง (วิธีสีเหมือนในวงเครื่องสาย แต่ไม่ต้องเป็นผู้นำวง เพราะมีระนาดเอกเป็นผู้นำวงอยู่แล้ว) ๕. ซออู้ (วิธีสีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย) ๖. จะเข้ (วิธีดีดและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย) ๗. ขลุ่ยเพียงออ (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย) ๘. โทน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย) ๙. รำมะนา (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย) ๑๐. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์)
วงมโหรีเครื่องคู่
มีเครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวง ทั้งวิธีบรรเลงและหน้าที่ เหมือนกับวงมโหรีวงเล็กทุกอย่างแต่เพิ่มซอด้วงเป็น ๒ คัน ซออู้เป็น ๒ คัน จะเข้เป็น ๒ ตัว กับเพิ่มเครื่องดนตรีอีก ๓ อย่าง คือ ๑. ขลุ่ยหลิบ วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสายเครื่องคู่ ๒. ระนาดทุ้ม วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ ๓. ฆ้องวงเล็ก มีขนาดเล็กกว่าฆ้องวงเล็กในวงปี่พาทย์ วิธีตีและหน้าที่เหมือนอย่างในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ บางทีก็เพิ่มซอสามสายคันเล็ก เรียกว่า ซอสามสายหลิบ อีก ๑ คัน
วงมโหรีเครื่องใหญ่
มีเครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวง ตลอดจนวิธีบรรเลงและหน้าที่เหมือนกับวงมโหรีเครื่องคู่ทุกอย่าง แต่เพิ่มเครื่องดนตรีขึ้นอีก ๒ อย่าง คือ ๑. ระนาดเอกเหล็ก (หรือทอง) วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ๒. ระนาดทุ้มเหล็ก (หรือทอง) วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่
ในสมัยปัจจุบันมักจะเพิ่ม "ขลุ่ยอู้" ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ขลุ่ยอู้นี้วิธีเป่าเหมือนกับขลุ่ยเพียงออแต่มีหน้าที่ดำเนินเนื้อเพลงเป็นทำนองห่างๆ ในทางเสียงต่ำ ส่วนฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ และโหม่ง ผสมได้ทั้งวงเล็ก เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่มีหน้าที่อย่างเดียวกับที่กล่าวแล้วในวงปี่พาทย์
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น